วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ข้าวฮาง

ข้าวฮางมรดกภูมิปัญญาของชาวอีสาน
      ข้าวฮางเป็นการเรียกระยะการสุกแก่ของข้าวที่พอจะนำมาบริโภคได้ซึ่งมี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะน้ำนม ระยะเม่า ระยะฮาง และสุดท้ายระยะข้าวเปลือกทั่วไป การนำข้าวมาบริโภคในสมัยโบราณปู่สังกะสา ย่าสังกะสี ข้าวที่จะนำมาให้ครอบครัวได้ใช้บริโภคคงจะมีไม่เพียงพอตลอดรอดปี และก็ไม่มีแมคโคร โลตัสให้ไปจับจ่ายซื้อข้าวซื้อของ เหมือนทุกวันนี้ เขียนให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าคงอดข้าวหรือไม่มีข้าวที่หุงรับประทาน ต้องขุดเผือกขุดมันต้มกลอยกินประทังชีวิตก่อนที่ข้าวที่ปลูกฤดูกาลใหม่จะสุกแก่ ผู้ปลูกก็เฝ้ารอเมื่อมีส่วนของข้าวที่พอจะนำมาบริโภคได้ก็ต้องรีบขวนขวายนำมาแปรรูปสู่กิน แรกเลยก็ได้กินข้าวระยะน้ำนมเอาข้าวมาทำเป็นน้ำนมข้าวยาคู แซ่บหลายหอมละมุน ดีกว่าv fit เสียอีก พอทานข้าวนาคูเสร็จก็มาทานข้าวเม่า หลังจากเม่าก็มาฮาง อย่างที่ทราบ ข้าวฮางนี่ชาวนาคงนำข้าวไปรูดไปครูดเอาเมล็ดข้าวออกจากรวงบนราง หรือฮางในภาษาพูดอีสาน ปัจจุบันนี้ข้าวฮางแท้ ๆ คงไม่มีใครผลิตแล้ว เพราะระยะเวลาของข้างช่วงเป็นข้าวฮางมันสั้น ปัจจุบันพัฒนาเอาข้าวเปลือกอะไรก็ได้มาทำ จะเป็นหอมมะลิ หอมนิล      ไรซ์เบอรี่ ข้าวลืมลูกลืมผัวลืมเมีย พันธ์อะไรก็ได้ขอให้เป็นข้าวเปลือก ขั้นตอนการทำก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร มี 4 ขั้นตอนหลัก ๆ ได้แก่ 1. แช่ (ล้างน้ำให้สะอาดเปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ แช่น้ำไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ปัจจุบันนำไปบ่มต่ออีก 24-48 ชั่วโมงเพื่อให้ข้าวงอก)  2. นึ่ง นำข้าวที่แช่น้ำหรือข้าวงอกไปนึ่งให้สุกการสุกของข้าวดูที่เมล็ดข้าวถ้าแตกอ้าออกแสดงว่าสุกได้ที่ 3. ผึ่ง นำข้าวนึ่งที่ได้ไปผึ่งลมให้หมาดแล้วตากให้แห้งประมาณร้อยละ 85 ถ้าแห้งมากเกินไปเวลานำข้าวไปกระเทาะเปลือกข้าวจะแตกหักมาก อาจถูกผู้ผลิตไปสมอ้างเป็นจมูกข้าว ขายกิโลกรัมละ 300-600 บาทนะจะบอกให้ และขั้นตอนสุดท้ายคือ 4. กระเทาะหรือจะพูดให้คล้องจองกันว่าสีก็ได้แต่ที่จริงแล้วคนละความหมายกันเลย จากนั้นก็นำไปตากแดดให้แห้งให้มีความชื้นต่ำ ๆ สัก 11-12% ถ้าไม่มีเครื่องวัดความชื้นเอาอวัยวะฟันขบดูถ้าข้าวแตกดังโพละแสดงว่าแห้งได้ที่ ถ้าแห้งไม่ได้ที่เอาเข้าถุงบรรจุข้าวจะมีความชื้น เสียคุณภาพ จากนั้นก็นำไปคัดแยก บรรจุถุงพลาสติคหรือถุงสูญญากาศ และจำหน่ายต่อไป ข้าวฮางนี่คนภาคกลางหรือฝรั่งรู้จักดีเรียกว่าข้าวนึ่งหรือ parboiled rice ข้าวฮางถือว่ามีคุณค่าทางอาหารสูงเพราะรำข้าวไม่สูญเสียจากการขัดสี ไฟเบอร์ก็ยังอยู่ จมูกข้าวก็มี ไม่ต้องไปทานน้ำมันรำข้าวไม่ต้องไปหาไฟเบอร์มารับประทานให้ยุ่งยากและถ้าเป็นข้าวฮางที่เพาะให้งอกเหมือนข้าวมอล์ท ยังมีสารกาบาแถมให้ด้วย








ขอได้รับความขอบคุณจากสำนักงานเกษตรอำเภอกุสุมาลย์  จังหวัดสกลนคร 042769037